คุณธรรมของผู้นำตามคำสอนในพระพุทธศาสนาตามความในมหากปิชาดก
ภาวะผู้นำ มีการนิยามว่า “กระบวนการแห่งอิทธิพลทางสังคมซึ่งจะทำให้บุคคลผู้หนึ่งสามารถได้รับความช่วยเหลือและความสนับสนุนจากผู้อื่นเพื่อความสำเร็จแห่งภารกิจร่วมกันได้” (a process of social influence in which one person can enlist the aid and support of others in the accomplishment of a common task)
การที่ผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาจะได้รับความช่วยเหลือและความสนับสนุนจากผู้ตามหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น ผู้นำจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรมของความเป็นผู้นำหรือผู้บังคับบัญชา หรือ หลักการในการ “ครองตน” ของผู้นำ กล่าวคือ ราชธรรม 10 หรือ ทศพิธราชธรรม หรือ ธรรมของพระราชา 10 ประการ ได้แก่ :
1. ทาน (การให้)
2. ศีล (ความประพฤติดีงาม)
3. ปริจจาคะ (ความเสียสละ)
4. อาชชวะ (ความซื่อตรง)
5. มัททวะ (ความอ่อนโยน)
6. ตปะ (ความแผดเผากิเลศตัณหา)
7.อักโกธะ (ความไม่โกรธ)
8. อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน)
9. ขันติ (ความอดทน)
10. อวิโรธนะ (ความไม่คลาดธรรม)
เรื่อง”คุณธรรมของผู้นำ” ที่นำมาเสนอนี้ เป็นเรื่องที่เน้นในคุณธรรมข้อที่ 3 ของผู้นำ กล่าวคือ ปริจจาคะ การบริจาค คือ การเสียสละความสุขสำราญ ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของสังคมและประเทศชาติ และบุคคลที่ได้บำเพ็ญคุณธรรมข้อนี้ ก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่เสวยพระชาติเป็นพระยาลิง ในเรื่องราวตามที่ปรากฏอยู่ใน มหากปิชาดก ขุททกนิกาย มีความดังนี้
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภญาตัตถจริยา คือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระญาติ แล้วจึงตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า อตฺตานํ สงฺกมํ กตฺวา ดังนี้
ในกาลครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายตั้งหัวข้อเป็นกระทู้สนทนากันขึ้นในธรรมสภาว่า “ดูก่อนท่านผู้มีอายุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงบำเพ็ญญาตัตถจริยา” พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบัด นี้เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องราวอะไร ?” เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องที่สนทนากันอยู่นั้นแล้ว จึงตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่เฉพาะในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนตถาคตก็บำเพ็ญญาตัตถจริยาเหมือนกันแล้ว”ได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดลิง มีร่างกายสูงใหญ่และล่ำสัน มีกำลังวังชามากเท่ากับช้าง ๕ เชือก สามารถกระโดดตัวลอยขึ้นไปสู่ที่สูงมากๆในอากาศได้ มีฝูงลิง ๘ หมื่นตัวเป็นบริวาร อาศัยอยู่ที่ถิ่นดินแดนหิมพานต์ ณ ที่นั้นได้มีต้นมะม่วงอยู่ต้นหนึ่ง ที่คนทั้งหลายเรียกว่า “ต้นนิโครธ” มีกิ่งก้านสาขาแผ่กว้าง มีใบดกหนา ร่มเงาหนา สูงเทียมยอดเขา ขึ้นเติบโตอยู่ริมฝั่งแม่คงคา ผลของมันหวานหอมคล้ายกับกลิ่นและรสผลไม้ทิพย์ ผลใหญ่มาก ประมาณเท่าหม้อใบใหญ่ ๆ ผลของกิ่ง ๆ หนึ่งของมันหล่นลงบนบก อีกกิ่งหนึ่งหล่นลงน้ำที่แม่คงคา ส่วนผลของ ๒ กิ่งหล่นลงที่ท่ามกลางใกล้ต้น
พระยาลิงพระโพธิสัตว์ เมื่อพาฝูงลิงไปกินผลของมะม่วงต้นนั้น มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลตามวิสัยของผู้นำที่ดีทั้งหลาย คือมีความคิดว่า สักวันหนึ่งภัยจักเกิดขึ้นแก่ตนและฝูงลิง อันสืบเนื่องมาจากผลมะม่วงที่หล่นลงไปในน้ำ จึงให้ฝูงลิงเก็บกินผลมะม่วงของกิ่งที่ทอดไปเหนือน้ำโดยไม่ให้เหลือแม้แต่ผลเดียว ตั้งแต่เวลาผลมีขนาดเท่าแมลงหวี่ในเวลาออกช่อ แม้ว่าจะมีมาตรการป้องกันภัยที่เคร่งครัดมากถึงขนาดนี้แล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่ามีผลสุกของมะม่วงผลหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในรังมดแดง ที่ฝูงลิงแปดหมื่นตัวมองไม่เห็น ได้หล่นลงในน้ำแล้วลอยไปติดที่ข่ายที่พระเจ้าพาราณสีมีรับสั่งให้ขึงกั้นไว้ในแม่น้ำ เพื่อความปลอดภัยในเวลาที่พระองค์ทรงกีฬาทางน้ำ เมื่อพระราชาทรงเล่นกีฬาในตอนกลางวันแล้วเสด็จกลับในตอนเย็นๆ พวกชาวประมงก็พากันกู้ข่าย เห็นผลมะม่วงสุกผลหนึ่งติดอยู่ที่ข่ายนั้น แต่ไม่รู้ว่าเป็นผลไม้อะไร จึงได้นำไปถวายพระราชาให้ทอดพระเนตร
พระราชา : นี่ผลอะไรกัน ?
ชาวประมง : ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบ พระพุทธเจ้าข้า
พระราชา : ใครจักทราบบ้าง ?
ชาวประมง : พรานไพร พระพุทธเจ้าข้า
พระราชารับสั่งให้เรียกพรานไพรมา ตรัสถามแล้ว ก็ทรงทราบว่า เป็นผลมะม่วงสุก แล้วทรงใช้พระแสงกริชเฉือน ให้พรานไพรรับประทานก่อน ภายหลังก็เสวยด้วยพระองค์เอง พระราชทานให้พระสนมบ้าง อำมาตย์บ้างรับประทานกัน รสของผลมะม่วงสุก แผ่ซาบซ่านไปทั่วพระสรีระทั้งสิ้นของพระราชา พระราชานั้นทรงติดพระทัยในรสของมัน ได้ตรัสถามพวกพรานไพรถึงที่อยู่ของต้นไม้นั้น
เมื่อพวกเขาทูลว่า มะม่วงต้นนั้นอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาในแดนแห่งหิมพานต์ จึงรับสั่งให้คนจำนวนมากต่อเรือขนานแล้วได้เสด็จทวนกระแสน้ำขึ้นไป ตามทางที่พวกพรานไพรทูลชี้แนะ เมื่อเสด็จถึงที่นั้นตามลำดับแล้ว พระราชารับสั่งให้จอดเรือไว้ที่แม่น้ำแล้ว พระองค์พร้อมด้วยข้าราชบริพารที่ห้อมล้อมตามเสด็จได้เสด็จดำเนินไป ณ ที่นั้นด้วยพระบาท ทรงให้ปูที่บรรทมลงที่โคนต้นมะม่วงต้นนั้น เสวยผลมะม่วงสุก แล้วเสวยพระกระยาหารนานาชนิด เสร็จแล้วก็บรรทม ราชบุรุษทั้งหลายได้วางยามรักษาการณ์ แล้วก่อกองไฟไว้ทุกทิศ
เมื่อข้าราชบริพารทั้งหลายของพระราชาหลับกันแล้ว พระยาลิงจึงได้ไปกับด้วยบริวารในเวลาเที่ยงคืน ลิงจำนวน ๘ หมื่นตัว ได้พากันไต่ไปกินผลมะม่วงสุกจากกิ่งหนึ่งไปยังกิ่งหนึ่ง พระราชาทรงตื่นบรรทม ทรงเห็นฝูงลิง จึงทรงปลุกให้คนทั้งหลายตื่นขึ้น แล้วรับสั่งให้เรียกพวกแม่นธนูมา แล้วตรัสว่า “พรุ่งนี้เจ้าทั้งหลายจงพากันล้อมยิงพวกลิงที่มากินผลไม้ โดยอย่าไม่ให้มันหนีไปได้ พรุ่งนี้ฉันจะกินผลมะม่วงและเนื้อลิง” พวกแม่นธนูทูลรับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ฯ แล้วพากันยืนล้อมต้นมะม่วงแล้วขึ้นลูกศรไว้พร้อมยิง
พวกลิงได้เห็นนายขมังธนูเหล่านั้นแล้วก็กลัวภัยคือความตาย แม้ว่าจะพยามหนีก็ไม่อาจหนีไปได้ จึงพากันเข้าไปพระยาลิง ยืนสั่นสะท้านอยู่พลางถามว่า “ ข้าแต่สมมุติเทพ พวกคนแม่นธนูยืนล้อมต้นไม้ด้วยหมายใจว่า พวกเราจักยิงลิงตัวที่หนีไป พวกเราจักทำอย่างไรกัน ?” พระโพธิสัตว์ปลอบใจฝูงลิงว่า “เจ้าทั้งหลายอย่ากลัว เราจักให้ชีวิตแก่พวกเธอ” แล้วได้วิ่งขึ้นกิ่งมะม่วงกิ่งที่ชี้ไปไปทางแม่น้ำคงคา แล้วโยนตัวกระโดดจากปลายกิ่งมะม่วงนั้นข้ามแม่น้ำคงคา ไปตกลงที่ยอดพุ่มไม้พุ่มหนึ่ง
เมื่อลงจากยอดพุ่มไม้นั้นแล้ว พระยาลิงก็ได้ทำการคิดคำนวณระยะทางจากฝั่งแม่น้ำฝั่งนี้กับฝั่งแม่น้ำฝั่งโน้นอันเป็นที่ตั้งของต้นมะม่วงว่าเป็นระยะทางสักเท่าไร แล้วก็ได้ไปหาเถาวัลย์เส้นหนึ่งที่มีความยาวตรงกับที่ได้คำนวณไว้ โดยกะว่าจะใช้เถาวัลย์เส้นนี้ขึงในอากาศทำเป็นสะพานข้ามแม่น้ำสำหรับให้เหล่าบริวารลิงของตนได้โหนตัวหนีจากภัยที่ถูกคุกคามชีวิตอยู่นั้น ต่อแต่นั้นพระยาลิงก็นำปลายข้างหนึ่งของเถาวัลย์ผูกเข้ากับลำต้นไม้ตนหนึ่งที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ และใช้ปลายของเถาวัลย์อีกข้างหนึ่งผูกเข้ากับเอวของตน
จากนั้นพระยาลิงก็ได้กระโดดลอยตัวจากพื้นดินของฝั่งแม่น้ำฝั่งนี้ล่อยละล่องไปสู่ต้นมะม่วงที่อยู่อีกฝากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ แต่ปรากฏว่าเถาวัลย์ที่ได้คำนวณไว้แล้วนั้นสั้นไปเล็กน้อยคือมีความยาวไม่ถึงกิ่งมะม่วง พระยาลิงจึงตัดสินใจใช้มือทั้งสองข้างยึดกิ่งมะม่วงไว้ให้แน่น แล้วให้สัญญาณแก่ฝูงลิงว่า “เจ้าทั้งหลายจงเหยียบหลังเราโหนตัวตามเถาวัลย์ไปสู่ที่ปลอดภัยโดยเร็วเถิด”
บรรดาลิงบริวารทั้ง ๘ หมื่นตัวได้ไหว้ขอขมาพระยาลิง แล้วก็ไต่ไปตามตัวของพระยาลิงและตามเส้นเถาวัลย์ข้ามแม่น้ำไปสู่ที่ปลอดภัย ฝ่ายพระเทวทัตครั้งนั้นเป็นลิงอยู่ในจำนวนลิงเหล่านั้นด้วย คิดว่า นี้เป็นเวลาที่จะได้เห็นความพินาศของศัตรูของเราแล้ว จึงขึ้นสู่กิ่งไม้สูงๆ โถมตัวตกลงบนหลังของพระยาลิง แล้วใช้เท้าทั้งสองข้างกระทืบลงบนหลังของพระยาลิง จนหัวใจของพระยาลิงแตก เกิดเวทนามีกำลังแรงกล้า ฝ่ายลิงเทวทัตนั้น เมื่อทำพระยาลิงให้ได้รับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสแล้ว ก็โหนเถาวัลย์ข้ามแม่น้ำหนีไป ปล่อยพระยาลิงอยู่ลำพังตัวเดียว
พระเจ้าพรหมทัตบรรทมในขณะนั้นยังไม่หลับ ทอดพระเนตรเห็นกิริยาอาการที่พวกลิงบริวารและพระยาลิงกระทำทุกอย่างแล้วทรงบรรทมพลางดำริว่า “ลิงตัวนี้เป็นสัตว์เดียรฉาน แต่ได้ทำความสวัสดีแก่บริวาร โดยมิได้คำนึงถึงชีวิตของตน” เมื่อสว่างแล้วพระองค์ทรงพอพระทัยในการกระทำพระยาลิงเป็นอย่างมาก ทรงดำริว่า ไม่ควรจะให้พระยาลิงนี้เสียชีวิตไปเสีย ควรนำตัวลงมาจากต้นไม้แล้วให้การเยียวยารักษา
พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งให้นำพระยาลิงลงมาจากต้นมะม่วง แล้วนำเข้าไปไว้ในกรง ทรงทำการประคบประหงมพระยาลิง รับสั่งให้คลุมด้วยผ้าอย่างดี ให้อาบน้ำในแม่น้ำคงคา ให้ดื่มน้ำอ้อย ให้เอาน้ำมันมาทาชโลมบนหลัง ให้ปูหนังแพะบนที่นอนแล้ว
ขณะที่พระยาลิงนอนอยู่บนที่นอนนั้น พระเจ้าพรหมทัตทรงนับถือน้ำใจของพระยาลิงมาก ถึงกับทรงยอมพระองค์ประทับนั่งบนอาสนะที่ต่ำกว่า แล้วทรงสนทนาไต่ถามพระยาลิง
พระเจ้าพรหมทัตตรัสถามว่า :
อตฺตาน สงฺกม กตฺวา โย โสตฺถึ สมตารยิ
กึ ตฺว เตส กึเม ตุยฺห โหนฺติ เหเต มหากปิ ฯ
[คำแปล] ดูก่อนขุนกระบี่ ท่านได้ทอดตัวเป็น
สะพานให้เหล่าวานรข้ามไปโดยสวัสดี ท่าน
เป็นอะไรกับวานรเหล่านั้น และวานรเหล่านั้น
เป็นอะไรกับท่าน ?
พระยาลิงกราบทูลว่า:
ราชาห อิสฺสโร เตส ยูถสฺส ปริหารโก
เตส โสกปเรตาน ภึตานนฺเต อรินฺทม ฯ
[คำแปล] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปราบข้าศึก ข้าพระ-
องค์เป็นพญาวานรผู้เป็นใหญ่ ปกครองฝูง-
วานรเหล่านั้น เมื่อพวกเขาถูกความโศกครอบงำ
หวาดกลัวพระองค์.
อุลฺลงฺฆยิตฺวา อตฺตาน วิสฺสฏฺธนุโน สต
ตโต อปรปาเทสุ ทฬฺห พนฺธ ลตาคุล ฯ
[คำแปล] ข้าพระองค์ได้ทะยานพุ่งตัว ที่มีเครื่องผูก
คือเถาวัลย์ผูกสะเอาไว้แน่น ไปจากต้นไม้ต้น
นั้นชั่วระยะร้อยคันธนูที่ปลดสายแล้ว.
ฉินฺนพฺภมิว วาเตน นุณฺโณ รุกฺขมุปาคมึ
โสห อปฺปภว ตตฺถ สาข หตฺเถหิ อคฺคหึ ฯ
[คำแปล] กลับมาถึงต้นไม้ เหมือนเมฆถูกลม
หอบไปฉะนั้น แต่ข้าพระองค์ไปไม่ถึงต้นไม้
นั้น จึงได้ใช้มือจับกิ่งไม้ไว้.
ต ม วีณายต สนฺต สาขาย จ ลตาย จ
สมนุกฺกมนฺตา ปาเทหิ โสตฺถึ สาขมิคา คตา ฯ
[คำแปล] พวกวานรได้พากันเอาเท้าเหยียบข้าพระ-
องค์นั้น ผู้ถูกกิ่งไม้และเถาวัลย์รั้งไว้ จนตึง
เหมือนสายพิณ แต่ไปโดยสวัสดี.
ต ม น ตปฺปตี พนฺโธ วโธ เม น ตเปสฺสติ
สุขมาหริต เตส เยส รชฺชมการยึ ฯ
[คำแปล] ถึงตัวจะถูกโยงมัดไว้กับเถาวัลย์
ข้าพระองค์ก็ไม่เดือดร้อน ถึงจะตาย
ข้าพระองค์ก็ไม่ครั่นคร้าม เพราะข้าพระองค์ได้-
นำความสุขมาให้แล้ว แก่เหล่าลิงที่ข้าพระองค์ปกครอง.
เอสา เต อุปมา ราช ต สุณาหิ อรินฺทม
รฺา รฏฺสฺส โยคฺคสฺส พลสฺส นิคมสฺส จ
สพฺเพส สุขเมตพฺพ ขตฺติเยน ปชานตาติ ฯ
[คำแปล] ข้าแต่พระราชาผู้ทรงปราบข้าศึก ข้าพระ-
องค์จะยกอุปมาถวายพระองค์ ขอพระองค์จง
ทรงสดับข้ออุปมานั้น ธรรมดากษัตริย์ผู้เป็น
พระราชา ทรงพระปรีชาสามารถ ควรแสวง
หาความสุขให้แก่รัฐ ยวดยานพาหนะ กำลัง
พล และนิคมทั่วหน้ากัน.
ในตอนท้ายของอรรถกถาของ มหากปิชาดก มีความเล่าต่อไปว่า เมื่อได้สนทนากับพระเจ้าพรหมทัตแล้ว พระยาลิงพระโพธิสัตว์ทนความบอบช้ำของร่างกายจากการบาดเจ็บอย่างแสนสาหัสในครั้งนี้ไม่ไหวก็ได้เสียชีวิตลงไป พระเจ้าพรหมทัตได้ทรงรับสั่งให้ทำการปลงศพของพระยาลิงดุจการถวายพระเพลิงพระศพของพระราชา ในขบวนแห่ศพของพระยาลิงไปยังสุสานก็มีความอลังการไม่น้อย โดยมีรับสั่งให้นางฝ่ายใน กล่าวคือ นางสนม และนางมเหสี นุ่งห่มผ้าแดง สยายผม มีหัตถ์ถือประทีปด้าม ห้อมล้อมศพของพระยาลิงขณะเคลื่อนไปสู่สุสาน มีการตั้งเชิงตะกอนเผาศพและใช้ฟืนจำนวนหนึ่งเล่มเกวียนเผาศพของพระยาลิงในทำนองเดียวกับถวายพระเพลิงพระราชา เสร็จแล้วพระเจ้าพรหมทัตทรงเก็บกะโหลกศีรษะของพระยาลิงไว้ในพระราชวัง ส่วนเถ้าถ่านและอังคารของพระยาลิงก็ทรงรับสั่งให้ได้นำไปบรรจุลงในเจดีย์ที่รับสั่งให้สร้างไว้ในสุสาน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น